จะรวยแค่ไหน ก็ต้องเลี้ยงลูกแบบจน

อ.มาศ หามาเล่า...


 

จะรวยแค่ไหน ก็ต้องเลี้ยงลูกแบบจน

อ.มาศหามาเล่า...

วันนั้น พาลูกไปร้านเครื่องเขียน ลูกอยากได้กล่องดินสอแบบสุดหรู แต่ผมให้ซื้อแบบธรรมดาที่ใช้งานได้ดีเหมือนกัน หน้างอขึ้นมาทันที

อยากได้ไม้บรรทัดแบบวิจิตรพิศดาร ผมให้เลือกแค่แบบพื้นฐานที่ใช้งานได้มาตรฐานทั่วไป หน้าก็ยิ่งงอหนักเข้าไปอีก

ผมไม่ได้ว่าอะไร ตั้งใจก่อนนอนคืนนี้ จะชี้แนะลูกด้วยการเล่านิทานเปรียบเปรยให้เข้าใจ

ผมตั้งใจจะเลี้ยงลูกไม่ให้เหมือนแบบที่ชาวเอเชียนิยมทำกัน ที่มักไม่ยอมให้ลูกลำบาก ดูแลแบบไข่ในหินประคบประหงมเกินพอดี

ผมได้อ่านจดหมายเรื่อง "พ่อผู้ขมขื่น" เขียนถึงลูกที่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย ซึ่งมีคุณค่ามากในสายตาของผม

ถึงลูกรักของพ่อ

แม้ลูกจะทำให้พ่อทุกข์ใจเกินบรรยาย แต่ลูกก็ยังเป็นลูกของพ่ออยู่วันยังค่ำ

หลังจากที่ลูกสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้แล้ว อาจเป็นเพียงคนเดียวของตระกูลในรอบหลายชั่วอายุคนที่ทำได้สำเร็จ แต่พ่อชักไม่แน่ใจ...

พ่อช่วยแบกสัมภาระไปส่งลูกถึงหอพัก ช่วยกางมุ้ง ปูที่นอน ซื้ออาหาร สอนแม้กระทั่งวิธีบีบยาสีฟันออกจากหลอด ดูเหมือนว่ามันเป็นหน้าที่ๆ พ่อสมควรต้องทำให้ ไม่ได้ยินคำว่าขอบคุณสักคำจากลูกตั้งแต่ต้นจนจบ รู้สึกด้วยซ้ำว่าเป็นเกียรติอันยิ่งใหญ่ที่พ่อผู้ด้อยความสามารถคนนี้มีโอกาสได้รับใช้ลูกทูนหัว ที่บัดนี้ได้เป็นนักศึกษาผู้ทรงเกียรติไปแล้ว

ปีแรกทั้งปี ที่บ้านได้รับจดหมายจากลูก 3 ฉบับ ข้อความรวมกันแล้วสั้นมาก ลายมือหวัดอ่านยาก มีแต่คำว่า"เงิน" ที่ตั้งใจเขียนได้ชัดเจนที่สุด

พอขึ้นปีที่ 2 จดหมายมาแบบถี่ๆ ล้วนขอเงินเพิ่ม ลีลาการเร่งเร้าให้ส่งเงิน ข้อความที่เรียกร้องความเห็นใจ บอกว่าหากเรียนจบแล้ว ลูกสามารถไปยึดอาชีพที่หาเงินได้มากแน่นอน

แต่สิ่งที่ทำให้พ่อเจ็บปวดที่สุดนั้น มาจากการที่ลูกอาจหาญถึงขั้นปลอมแปลงจำนวนเงินค่าหน่วยกิตของมหาวิทยาลัย มาหลอกลวงเงินจากพ่อแม่ที่ให้กำเนิด เลี้ยงดู รักใคร่ลูกมาตลอด เพียงเพื่ออยากได้เงินเพิ่มไปเที่ยวผับบาร์ คาราโอเกะ...

คิดถึงเรื่องนี้เมื่อไหร่ก็เจ็บปวดเมื่อนั้น นอนไม่หลับ จนกลายเป็นโรคซึมเศร้า สาเหตุก็มาจากลูก คนที่พ่อเลี้ยงดูด้วยมือจนเติบใหญ่ แต่กลับกลายเป็นคนแปลกหน้าในร่างของนักศึกษา

ขอภาวนาในใจว่า นอกจากวิชาความรู้ต่างๆ ที่ลูกจะเรียนรู้จากสถาบันการศึกษาแล้ว ลูกจะกรุณาพัฒนาจิตใจให้เป็นคนซื่อสัตย์และกตัญญูรู้คุณด้วย ก็จะเป็นเรื่องที่ดีที่สุด...

มีอยู่วันหนึ่ง เพื่อนสมัยเรียนที่ย้ายไปออสเตรเลียกลับมาเยี่ยมบ้าน เขาเล่าว่า คนที่นั่นจะเลี้ยงลูกแบบ "รวยแค่ไหน ก็ต้องเลี้ยงลูกแบบจน"

พวกเขาเชื่อว่า เด็กที่ได้รับการดูแลปกป้องมากเกินไป เมื่อโตขึ้นจะไม่สามารถยืนอยู่บนลำแข้งตัวเอง และก็จะไม่มีวันสำนึกบุญคุณคนอื่น แม้กระทั่งพ่อแม่ตนก็ตาม

วันถัดมาเรามีโอกาสออกไปทำธุระด้วยกัน เจอฝนระหว่างทาง เขาเห็นเด็กน้อยถูกห่อหุ้มด้วยผ้านวมอย่างหนากลมไปหมดทั้งตัวคล้าย"ลูกบอลยัดนุ่น" เขาบอกว่า "เด็กควรจะใส่เสื้อผ้าน้อยกว่าผู้ใหญ่หน่อย" ที่ออสเตรเลีย แม้หน้าหนาวก็จะไม่เห็นเด็กที่ถูกห่อแบบเหมือนที่เห็น

หรือในวันแดดจ้า แม้เด็กจะนั่งอยู่ในรถเข็นเด็ก แม่ก็จะทำใจแข็ง ไม่ยอมดึงที่บังแดดออกมาให้ลูก

เด็กที่วิ่งเล่นแล้วหกล้มเอง พ่อแม่ก็จะยืนดูเฉยๆให้ลูกลุกขึ้นมาด้วยตัวเขาเอง

ทั้งหมดล้วนพยายามให้ลูกฝึกช่วยตัวเองและอดทนให้มากที่สุด

ต่างจากครอบครัวชาวเอเชียอย่างพวกเราที่ว่า "จะยากจนแค่ไหน ก็ไม่ยอมให้ลูกต้องลำบาก"

สงสัยจะถึงเวลาต้องทบทวนกันใหม่ได้แล้ว

การเลี้ยงลูกของสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ ตอนลูกยังเล็กและอ่อนแอ ต้องปกป้อง กลัวลูกๆจะไม่ปลอดภัย แต่พอลูกเริ่มโตได้ที่แล้ว จะไล่ลูกออกไปอย่างไร้เยื่อใย ให้ไปเผชิญกับโลกภายนอกเอง ไปฝึกวิทยายุทธเอง ไปเผชิญปัญหาและมรสุมทุกรูปแบบ แล้วชีวิตจะไม่เจอทางตัน

แม้แต่สัตว์ก็ยังรู้ถึงหลักการที่ว่า "โอ๋ลูกจนไม่ลืมหูลืมตา ก็คือการฆ่าลูกแบบเลือดเย็น"

"จะรวยแค่ไหน ก็ต้องเลี้ยงลูกแบบจน"

ด้วยวิธีนี้จะฝึกให้ลูกๆทั้งหลายรู้จักยืนอยู่บนลำแข้งตัวเอง และรู้จักสำนึกและตอบแทนบุญคุณคนเป็นพ่อเป็นแม่

สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรลืม ถึงแม้คุณจะห่วงด้วยวิธีปกป้องหรือโอ๋ลูกขนาดไหนก็ตาม คุณคงไม่มีปัญญาตามไปดูแลพวกเขาในช่วงครึ่งหลังของชีวิตเขา เพราะตอนนั้นคงได้เวลาที่คุณจะได้หลับยาวไปแล้ว

"ขจรศักดิ์"
แปลและเรียบเรียง
6/4/17


Odoo • A picture with a caption
Add a caption to enhance the meaning of this image.